สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นหน่วยงานสนับสนุนของมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เริ่มเปิดให้บริการ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2515 โดยใช้อาคารเรียน 2 ชั้น เป็นสถานที่ห้องสมุดชั่วคราว และ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2516 ได้ย้ายมาอยู่ชั้น 2 อาคารเรียน 1 ปัจจุบันสำนักวิทยบริการฯ มีพื้นที่ใช้สอยและให้บริการ ประกอบไปด้วย

  1. อาคารหอสมุดกลาง   เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2518 16 ได้ย้ายมาอยู่ที่อาคารหอสมุดซึ่งเป็นอาคารเอกเทศ 2  ชั้น ใช้ชื่ออาคารว่า “อาคารหอสมุดลาง” ปัจจุบันในปี 2561 มีอายุการใช้งาน 43 ปี   โดยมีพื้นที่ใช้งานรวมทางเดินจำนวน 1,459.50 ตารางเมตร
  2. อาคารวิทยบริการฯ เมื่อปีพ.ศ. 2538 ได้ทำการขยายพื้นที่บริการจากอาคารหอสมุดเดิมมารวมกับอาคารวิทยบริการหลังใหม่เป็นอาคาร 4 ชั้น  เชื่อมต่อกับอาคารหลังเดิม ใช้ชื่ออาคารว่า “อาคาร วิทยบริการ” ปัจจุบันในปี 2561 มีอายุการใช้งาน 23 ปี  โดยมีพื้นที่ใช้สอยจำนวน 4 ชั้น รวมทั้งสิ้น 2,812 ตารางเมตร
  3. ห้องประชุมปีกหอสมุดกลาง พ.ศ. 2553 พัฒนาและปรับปรุงพื้นที่อาคารห้องประชุมปีกห้องสมุด ให้เป็นห้องบริการคอมพิวเตอร์ ที่มีจำนวนมากกว่า 100 เครื่อง

– พ.ศ.  2559  เมื่อวันที่  11 ก.พ. 59 พัฒนาและปรับปรุงพื้นที่อาคารห้องประชุมปีกห้องสมุดเพิ่มเติม เพื่อประโยชน์การให้บริการห้อง 84 ปี บรรณาภิรมย์ สำหรับให้บริการหนังสือใหม่ โดยมีพื้นที่ใช้สอยจำนวนทั้งสิ้น 2,315.25 ตารางเมตร

– ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2561 สำนักวิทยบริการฯ ดำเนินการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ เพื่อเปิดให้บริการห้องปฏิบัติการ  Inspiration Lab ที่เป็นงานบริการใหม่เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมหรือไอเดียใหม่ได้จริง  การสร้างแรงบันดาลใจและการเรียนรู้อย่างครบวงจร

ดังนั้นสำนักวิทยบริการฯ  มีจำนวนพื้นที่ใช้สอยทั้งภายใน ภายนอกและบริเวณโดยรอบได้แก่ห้องประชุมปีหอสมุดกลาง อาคารหอสมุดกลาง 2 ชั้น และอาคารวิทยาบริการฯ 4 ชั้น รวมทั้งสิ้น 6,581.75   ตารางเมตร (เอกสารหลักฐาน 2.1)

และเนื่องจากเป็นอาคารที่ผ่านการใช้งานมานาน จึงได้ดำเนินการศึกษาปัญหาและสภาพอาคารที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมของสำนักวิทยบริการฯ คือ

  1. อาคารหอสมุดกลาง มีอายุการใช้งาน 43 ปี และอาคารวิทยบริการฯ มีอายุการใช้งาน 23 ปี สภาพอาคาร ระบบไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ และสาธารณูปโภคทรุดโทรม และเสื่อมสภาพ ไม่ทันสมัยส่งผลต่อภาพลักษณ์และการพัฒนาไปสู่การเป็น Semi residential University
  2. แม้จะมีการบำรุงรักษาระบบแสงไฟ เครื่องปรับอากาศ อย่างสม่ำเสมอ แต่ก็ยังมีสภาพเก่า ไม่เอื้ออำนวยในเรื่องการอนุรักษ์พลังงาน
  3. เป็นอาคารที่มีหน้าต่างที่เป็นกระจกใสโดยรอบ จึงได้รับพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์เป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อวัน ซึ่งเป็นข้อดีในเรื่องแสงสว่างแต่เป็นข้อด้อยในเรื่องการใช้ปริมาณไฟฟ้าจำนวนมากสำหรับเครื่องปรับอากาศ
  4. ผลกระทบจากแสงสะท้อนจากอาคารต่างๆ ที่ตั้งอยู่โดยรอบสะท้อนเข้ามาภายในอาคารสำนักวิทยบริการฯ แสงสะท้อนเมื่อกระทบกับกระจกทำให้เกิดความร้อน เป็นสาเหตุให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนักส่งผลให้ใช้พลังงานเพิ่มขึ้น
  5. มีการใช้งานเครื่องปรับอากาศ เป็นระยะเวลาหลายชั่วโมงในแต่ละวันเกือบ 365 วัน และเครื่องปรับอากาศส่วนใหญ่มีอายุการใช้งานมากกว่า 10 ปี และเครื่องปรับอากาศทั้งในอาคารเก่าและอาคารใหม่บางส่วน มีการเดินท่อน้ำยาเครื่องปรับอากาศยาวเกินกว่ามาตรฐาน จึงส่งผลให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้ามากกว่าปกติ

จากปัญหาและอุปสรรคดังกล่าว สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ  ได้กำหนดแผนงานและมาตรการเพื่อปรับปรุงลักษณะโครงสร้างทางกายภาพ (เอกสารหลักฐาน 2.2) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการอนุรักษ์พลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนี้ 

  1. จัดทำโครงการปรับปรุงอาคารสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ และวัสดุประกอบอาคารให้เอื้อต่อการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยปรับปรุงอาคาร/สถานที่ให้สามารถลดความร้อนจากภายนอก และใช้ประโยชน์จากพลังงานธรรมชาติได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
  2. ปรับเปลี่ยนระบบเครื่องปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ยกเลิกเครื่องปรับอากาศเก่าที่ใช้งานมานานเกิน 10 ปี และใช้เครื่องปรับอากาศใหม่ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการประหยัดไฟ เบอร์ 5 ในการปรับปรุงพื้นที่ใหม่ในพื้นที่บริการที่เครื่องปรับอากาศไม่สามารถใช้งานได้ ให้มีการย้ายเครื่องปรับอากาศ    ที่สามารถใช้งานได้ไปทดแทน
  1. เปลี่ยนหลอดไฟแบบฟลูออเรสเซนต์เป็นหลอด LED เพื่อประหยัดพลังงาน
  2. ติดตั้งเซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวกับหลอดไฟเพื่อเชื่อมต่อระบบแสงสว่าง และช่วยประหยัดพลังงานบริเวณพื้นที่ใช้งานที่มีผู้เข้าใช้บริการเป็นครั้งคราว
  3. เพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยปลูกต้นไม้ที่มีคุณสมบัติดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มก๊าซออกซิเจนภายในสำนักวิทยบริการฯ ปรับปรุงภูมิทัศน์ สวนหย่อม และพื้นที่โดยรอบสำนักวิทยบริการ
  4. ลดภาระการทำงานของเครื่องปรับอากาศ ด้วยการทำความสะอาดหน้ากากเครื่องปรับอากาศอย่าง สม่ำเสมอ   
  5. ปรับตำแหน่งการวางชั้นหนังสือเพื่อให้สามารถใช้พื้นที่ในการให้บริการเพิ่มมากขึ้น
  6. นำกิจกรรม 5ส มาช่วยในการดูแลพื้นที่เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย
  7. มีมาตรการและแนวปฏิบัติในการใช้พลังงานและทรัพยากรสำหรับบุคลากรสำนักวิทยบริการ
  8. นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยลดการใช้ทรัพยากร เช่น กระดาษ เป็นต้น

สำนักวิทยบริการได้นำแผนงานและมาตรการมาดำเนินการ ดังนี้

1  มีการปรับปรุงโครงสร้างอาคารและวัสดุประกอบอาคาร ให้เอื้อต่อการอนุรักษ์พลังงาน และสิ่งแวดล้อม (เอกสารหลักฐาน 2.3) โดยมีโครงการปรับปรุงอาคาร ห้องปฏิบัติการ  ตลอดจนพื้นที่ต่างๆ ดังนี้

1.1 ปรับปรุงพื้นที่ห้องศูนย์บริการข้อมูลและสารสนเทศท้องถิ่น งานยกพื้น งานระบบกราวด์กริดใต้พื้นยก  เพื่อสามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

1.2 ปรับปรุงพื้นที่บริเวณหน้าห้องคอมพิวเตอร์ เป็นพื้นคอนกรีตพิมพ์ลาย และปรับปรุงพื้นตัวหนอนด้านสระน้ำ เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการจัดกิจกรรม

1.3 ปรับปรุงห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ (ห้องเล็ก) เพื่อใช้เป็นห้องในการให้บริการยืม-คืนหนังสือ ใช้ชื่อ “ห้องบรรณาภิรมย์” เป็นการเพิ่มพื้นที่ให้ผู้บริการสามารถเข้ามาใช้งานได้สะดวกขึ้น

1.4 ปรับปรุงทางเดินเข้าหน้าประตูห้องบรรณาภิรมย์ เนื่องจากเดิมเป็นพื้นต่างระดับ จึงทำการปรับปรุงเพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเดินเข้าออกได้สะดวก รวมทั้งเป็นทางเข้าสำหรับผู้พิการกรณีนั่งรถวีลแชร์ได้อีกด้วย

1.5 ปรับปรุงห้องศึกษากลุ่มเพื่อเพิ่มพื้นที่ให้เพียงพอต่อการให้บริการ โดยการติดตั้งแผงกั้นกระจกอลูมิเนียม ติดตั้งประตูบานเลื่อน ประตูสวิง เพื่อจัดพื้นที่ให้บริการเป็นสัดส่วนและมีความปลอดภัย

1.6 ปรับปรุงเคาน์เตอร์บริการยืม-คืน เดิมที่เสื่อมสภาพ โดยจัดซื้อของใหม่มาทดแทน

1.7 ปรับปรุงห้องน้ำ ชั้น 1 – 4 ของสำนักวิทยบริการเพื่อสามารถให้บริการได้ดียิ่งขึ้น 

1.8 ปรับปรุงห้องปฏิบัติการ Inspiration Lab  (ห้องอ้างอิงเดิม) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้บริการทางด้านห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีการใช้หลอดไฟ LED ที่ประหยัดพลังงาน และมีการติดตั้งม่านกันแสงเพื่อช่วยลดแสงแดด แสงสะท้อนหรืออากาศร้อนภายนอก เพื่อให้เครื่องปรับอากาศไม่ต้องทำงานหนักและกินไฟ

2  มีการปรับปรุงระบบปรับอากาศให้มีประสิทธิภาพ มีการตรวจวิเคราะห์การใช้พลังงาน และซ่อมแซม บำรุงรักษา (เอกสารหลักฐาน 2.4)

เนื่องจากเครื่องปรับอากาศของสำนักวิทยบริการส่วนใหญ่ มีอายุการใช้งานเกิน 10 ปี ซึ่งทำให้มีการใช้พลังงานไฟฟ้าที่สูง และยังไม่สามารถจัดหาเครื่องใหม่มาทดแทนได้  จึงมุ่งเน้นในการบำรุงรักษาของเดิมเพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือซ่อมแซมในส่วนที่ดำเนินการเองได้ 

2.1 ติดตั้งเครื่องปรับอากาศในห้อง Server จำนวน 2 เครื่อง ซึ่งต้องเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดเวลา จึงได้ดำเนินการติดตั้งให้สลับกันทำงานเครื่องละ 4 ชั่วโมง เป็นการประหยัดพลังงาน และสามารถดูแลเครื่อง Server ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2.2 ในส่วนของการปรับปรุงพื้นที่ใหม่ก็จะเลือกใช้เครื่องปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพได้รับการรับรองมาตรฐาน จาก มอก. ประหยัดไฟเบอร์ 5  เช่น ห้องปฏิบัติการ Inspiration Lab 

2.3 ติดตั้งม่านกรองแสง เพื่อช่วยลดความร้อนจากภายนอกห้อง เพื่อไม่ให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนักและกินไฟ โดยเฉพาะห้องที่เป็นกระจกเกือบทุกด้านและมีแสงแดดส่องถึงตลอดทั้งวัน เช่น ห้อง 84 ปี บรรณาภิรมย์  ห้องปฏิบัติการ Inspiration Lab

2.4 มีการตรวจวิเคราะห์การใช้พลังงานจากหน่วยงานภายนอก โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคประตูน้ำพระอินทร์ จังหวัดปทุมธานี ได้ทำหนังสือขอความอนุเคราะห์ให้คณะทำงานส่งเสริมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เข้าตรวจวัดและวิเคราะห์การใช้พลังงาน ที่สำนักวิทยบริการฯ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2561

2.5  มีการตรวจเช็ค ซ่อมแซม และบำรุงรักษา เครื่องปรับอากาศเป็นประจำทุกปี โดยการจ้างเหมาทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ  การขอความอนุเคราะห์จากงานอาคารสถานที่ และบุคลากรของห้องสมุดในการซ่อมแซมและบำรุงรักษา

3  มีการปรับปรุงระบบไฟฟ้าแสงสว่างที่ประหยัดพลังงาน  (เอกสารหลักฐาน 2.5)

3.1 งานอนุรักษ์พลังงาน ฝ่ายอาคารสถานที่ของมหาวิทยาลัย ได้จัดทำโครงการส่งเสริมอนุรักษ์พลังงาน (หลอด LED) ในรูปแบบมาตรการอุดหนุนผลการประหยัดพลังงาน เพื่อขอรับการสนับสนุนจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และได้รับการอนุมัติ โดยทางบริษัท ซีวิค มีเดีย จำกัด ได้เข้ามาดำเนินการเปลี่ยนจากหลอดไฟ ฟลูออเรสเซนต์ (T8) ขนาด 36 วัตต์ เป็นหลอด LED T8 ขนาด 28 วัตต์ แทนพร้อมอุปกรณ์ประกอบ เพื่อให้เกิดการประหยัดพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม

3.2 งานปรับปรุงห้อง Inspiration Lab ติดตั้งระบบแสงสว่าง ด้วยโคม Down Light 4” LED 13.5 W.  โคมเปลือย T8 LED 18 W.  และโคมห้อย LED 13.5 W.

3.3 ติดตั้งเซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวกับหลอดไฟเพื่อเชื่อมต่อระบบแสงสว่าง และช่วยประหยัดพลังงานบริเวณพื้นที่ใช้งานที่มีผู้เข้าใช้บริการเป็นครั้งคราว

3.4 ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บริเวณ น้ำตกอาคารสำนักวิทยบริการฯ เพื่อแปลงพลังงานจากแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าช่วยลดการใช้พลังงาน

3.5 สำนักวิทยบริการอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำโซล่าฟาร์ม เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์แบบต่อกับระบบจำหน่าย (PV Grid connected system) ถูกออกแบบสำหรับผลิตไฟฟ้าผ่านอุปกรณ์เปลี่ยนระบบไฟฟ้ากระแสตรงเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ เข้าสู่ระบบสายส่งไฟฟ้าโดยตรง 

4  มีการปรับปรุงการปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยเลือกปลูกพืชที่ช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก หรือปลูกพืชใช้น้ำน้อย หรือพืชที่ใช้ประโยชน์เพื่อเป็นอาหาร และจัดภูมิทัศน์ให้มีความร่มรื่นสวยงาม     (เอกสารหลักฐาน 2.6)

สำนักวิทยบริการฯ มีการปรับปรุงการปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยเลือกปลูกพืชที่ช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก หรือปลูกพืชใช้น้ำน้อย หรือพืชที่ใช้ประโยชน์เพื่อเป็นอาหาร และจัดภูมิทัศน์ให้มีความร่มรื่นสวยงาม 

– ปรับปรุงภูมิทัศน์และส่งเสริมกิจกรรม Green Library โดยจัดกิจกรรมพัฒนา บรรยากาศการเรียนรู้ เพื่อปรับปรุงการจัดพื้นที่บริการต่างๆ ให้กับผู้ใช้บริการ ได้พักผ่อนหย่อนใจส่งเสริมการพัฒนาห้องสมุดสีเขียว เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2559

– ดำเนินการปรับภูมิทัศน์รอบบริเวณอาคารวิทยบริการ ให้ร่มรื่นและสวยงาม เพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งภายใน/ภายนอกและทำความสะอาดพื้นที่บริเวณโดยรอบอาคาร เพื่อสร้างความตระหนักในการบริหารจัดการห้องสมุดสีเขียว ที่เป็นส่วนหนึ่งในการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2561

– จัดกิจกรรม 5 ส. (สะสาง สะอาด สุขลักษณะ และสร้างนิสัย) เพื่อปรับปรุงทำความสะอาดพื้นที่บริการต่างๆ ให้กับผู้ใช้บริการให้เหมาะสมต่อการศึกษาค้นคว้า การพักผ่อนหย่อนใจทั้งภายในและภาพนอกอาคารปีกหอสมุดกลางและด้านหน้าอาคารวิทยบริการฯ 

– ดำเนินโครงการ “พัฒนาแหล่งเรียนรู้ห้องสมุดสีเขียว : Green Library” กิจกรรมปรับปรุงภูมิทัศน์/ภูมิสถาปัตย์ การปลูกพืชเพิ่มพื้นที่สีเขียว ปลูกต้นไม้ที่มีคุณสมบัติดูดซับก๊าซหรือสารพิษและเพิ่มก๊าซออกซิเจนให้กับภายในสำนักวิทยบริการฯ การทำสวนผักเพื่อใช้เป็นอาหาร ผักสมุนไพร และปรับปรุงภูมิทัศน์ให้มีความร่มรื่นสวยงาม